บุคคล หมายถึง สิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย และมิได้หมายความเฉพาะมนุษย์ซึ่งก็เรียกว่าบุคคลธรรมดาเพียงอย่างเดียว แต่กฎหมายได้รับรองบรรดาคณะบุคคลหรือกิจการและทรัพย์สินบางอย่างตามกฎหมายที่กำหนดไว้ ให้เป็นบุคคลในความหมายของกฎหมายได้อีกประการหนึ่งกล่าวคือให้มีสิทธิและหน้าที่เหมือนบุคคลธรรมดา เช่น ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ แต่สิทธิและหน้าที่บางประการ ซึ่งโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่มนุษย์เพียงเท่านั้น เช่น การสมรส การรับรองบุตร ฯลฯ บุคคลซึ่งกฎหมายให้สิทธิพิเศษนี้ไว้เรียกว่านิติบุคคลซึ่งก็มีความหมายตามกฎหมายอยู่แล้ว
บุคคลซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดมีบทบัญญัติของกฎหมายขึ้น ดังนั้นบุคคลก็ต้องเป็นผู้รับรู้และปฏิบัติตามให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งก็จะได้ประโยชน์จากการรับรู้จากกฎหมายกำหนดไว้จึงจำเป็นต้องศึกษาให้ทราบถึงหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ถึงการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ในเรื่องต่าง ๆ
การศึกษาในส่วนของเรื่องบุคคลนั้นจึงแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ
1. บุคคลธรรมดา
2. นิติบุคคล
บุคคลธรรมดา
บุคคลธรรมดา หมายถึง สิ่งที่มีชีวิตสามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย คือมนุษย์ทั้งปวงจะเป็นหญิง ชาย เด็ก คนชรา หรือเป็นผู้บกพร่องในความสามารถหรือเป้ฯคนวิกลจริตอย่างใดก็ตามคนวิกลจริตอย่างใดก็ตามถือเป็นบุคคลธรรมดาทั้งสิ้นโดยมีสาระสำคัญที่ศึกษาต่อไปนี้
1. สภาพบุคคล
2. สิ่งที่ประกอบสภาพบุคคล
สภาพบุคคล
การเริ่มสภาพบุคคล
ป.พ.พ. มาตรา 15 บัญญัติว่า “สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารกและสิ้นสุดลงเมื่อตาย
ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก”
หมายความว่าการเริ่มสภาพบุคคลต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ คือ
1. คลอดจากครรภ์มารดาและ
2. อยู่รอดเป็นทารก
คลอด หมายถึง คลอดจากครรภ์มารดา และต้องเป็นการคลอดอย่างสมบูรณ์คือต้องล่วงพ้นออกจากครรภ์มารดาแล้วทั้งตัว โดยไม่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของทารกติดค้างอยู่จะตัดสายสะดือหรือยังไม่ถือเป็นข้อสำคัญ
อยู่รอดเป็นทารก หมายความว่า ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดาแล้วมีชีวิตอิสระเป็นของตนเอง สามารถหายใจได้ด้วยตนเองแม้ว่าจะหายใจได้เพียงครั้งเดียวแล้วตายก็ถือว่ามีสภาพบุคคลแล้ว ส่วนทารกที่ตายก่อนคลอดหรือในขณะคลอด ไม่ถือว่ามีสภาพบุคคล การชันสูตรพลิกศพทารกสามารถกระทำได้โดยการตรวจปอดของทารกว่ามีอากาศในปอดหรือไม่ โดยการนำเอาปอดไปลอยน้ำเพื่อดูการพองตัวของถุงลมจะช่วยวินิจฉัยได้ว่า ทารกตายก่อนคลอดหรือตายภายหลังที่คลอดแล้ว
สำหรับทารกในครรภ์มารดากฎหมายก็รับรองให้มีสิทธิต่าง ๆ ได้โดยมีเงื่อนไขว่า ต่อมาทารกนั้นจะต้องคลอดออกมา มีชีวิตเป็นต้นว่า สิทธิในการรับมรดกจากบิดาที่ตายในระหว่างเด็กยังอยู่ในครรภ์มารดา ถ้าภายหลังเกิดมามีชีวิตก็จะได้รับมรดกของบิดาตามส่วนที่ควรจะได้ เว้นแต่ทารกนั้นตายก่อนคลอดหรือขณะคลอดก็ไม่มีสิทธิรับมรดก แต่การคลอดนี้จะต้องคลอดภายในระยะเวลา 310 วัน นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายทั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1604 บัญญัติว่า “บุคคลธรรมดาจะเป็นทายาทได้ก็ต่อเมื่อมีสภาพบุคคล หรือสามารถมีสิทธิได้ตามมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายนี้ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ให้ถือว่าเด็กที่เกิดมารอดอย่าภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายนั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาอยู่ในเวลาที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย”
ตัวอย่าง นางแดงตั้งครรภ์ได้ 8 เดือน นายเขียวสามีก็ตาย ต่อมาอีกประมาณเดือนเศษนายแดงคลอดบุตรมาและมีชีวิตอยู่เช่นนี้ก็ถือว่ามีสิทธิตามกฎหมายและมีสิทธิที่จะรับมรดกของนายเขียวผู้เป็นบิดาได้
กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1604 ดังกล่าวนั้นเป็นกรณีที่บิดาของทารกในครรภ์มาตราถึงแก่ความตายไปก่อนทารกจะคลอดถ้าเป็นกรณีบิดาไม่ตายแต่หย่าขาดกับมารดาของทารกนั้นทารกคลอดหลังจากขาดจากการสมรสย่อมจะเสียสิทธิอันควรจะได้รับจากบิดาของเขา ในกรณีที่เป็นเช่นนี้กฎหมายได้บัญญัติคุ้มครองประโยชน์ของทารกนั้นไว้ให้เช่นเดียวกันดังบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 1536 ว่า “เด็กเกิดแต่หญิงขณะเป็นภริยาชายหรือภายในสามร้อยสิบวันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เป็นสามี หรือเคยเป็นสามีแล้วแต่กรณี”
ตัวอย่าง เช่นนายเขียวและนางวิไลอยู่กินกันสามีภริยาต่อมานางวิไลตั้งครรภ์ได้หกเดือนนายเขียวไปมีภริยาน้อยทำให้นางวิไลโกรธแค้น จึงขอจดทะเบียนหย่ากับนายเขียวและต่อมาอีประมาณสามเดือนนางวิไลก็คลอดบุตรมามีชีวิตรอด เช่นนี้บุตรที่คลอดมาก็ย่อมเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายเขียว
วันเกิดของบุคคล คือวันที่ทารกคลอด และมีชีวิตอยู่รอดเป็นวันที่ทารกเริ่มมีสภาพบุคคลตามกฎหมาย โดยปกติเมื่อเด็กเกิด บิดามารดาจะจดบันทึกวันเดือนปีและเวลาของเด็กไว้เสมอ นอกจากนี้ พ.ร.บ. ทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2499 มาตรา 11 ยังได้บังคับให้เจ้าบ้านหรือบิดามารดาไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียนท้องที่ เพื่อลงทะเบียนคนเกิดภายใน 15 วันนับแต่วันเกิด อย่างไรก็ตามบางครั้งอาจเกิดปัญหาในเรื่องวันเกิดขึ้นได้ เช่น เด็กเกิดในท้องที่ห่างไกลความเจริญ บิดามารดาไม่รู้หนังสือจดวันเดือนปีไม่ถูกหรือจดถูกแต่สูญหาย ไม่ได้ไปแจ้งต่อนายทะเบียนหรือกรณีทะเบียนราษฎร์ถูกทำลายหรือสูญหายทำให้ไม่มีหลักฐานบันทึกไว้และไม่มีหลักฐานอื่นค้นคว้าได้ว่าบุคคลนั้นเกิดในวันอะไร เดือนอะไรแน่นอน
กรณีนี้กฎหมายบัญญัติกำหนดวันและเดือนเกิดให้โดย ป.พ.พ. มาตรา 16 บัญญัติว่า “การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด”
ตัวอย่าง กรณีรู้ว่าเกิดเดือนอะไรแต่ไม่รู้วันเกิด เช่น นายพรเกิดเดือนกุมภาพันธ์ปี พ.ศ. 2512 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันที่เท่าไร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 16 บัญญัติให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด จึงถือได้ว่านายพร เกิดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 สำหรับกรณีที่ไม่รู้ทั้งวันและเดือนเกิดมาตรา 16 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด
ตัวอย่าง นาสมคิด ได้ทำนิติกรรมโดยลำพังตนเองขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 ต่อมามีผู้คัดค้านว่านิติกรรมเป็นโมฆียะ เพราะนายสมคิดเป็นผู้เยาว์ ปรากฏว่านายสมคิดเกิดในปี พ.ศ. 2510 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันอะไร เดือนอะไร กรณีนี้ต้องนำเอามาตรา 16 ตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับโดยถือว่านายสมคิด เกิดวันที่ 1 มกราคม 2510 นิติกรรมที่นายสมคิดทำขึ้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2530 จึงสมบูรณ์ไม่เป็นโมฆียะเพราะถือว่านายสมคิดบรรลุนิติภาวะ พ้นภาวการณ์เป็นผู้เยาว์แล้วตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2530
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น