สัญญาฝากทรัพย์ คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ฝากส่งมอบทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับฝากและ ผู้รับฝากตกลงว่าจะเก็บรักษาทรัพย์สินนั้นไว้ในอารักขาแห่งตน แล้วจะคืนให้ (มาตรา 657)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1936/2549 การที่จำเลยที่ 2 จัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้า ผู้ที่นำรถเข้าไปจอดเป็นผู้หาที่จอดรถเองและเก็บลูกกุญแจรถไว้เอง พนักงานของจำเลยที่ 1 มอบบัตรจอดรถให้ตอนขาเข้า คอยดูแลจัดหาที่จอดรถ และรับบัตรจอดรถคืนตอนขาออกเป็นการช่วยรักษาความปลอดภัยให้แก่ลูกค้าที่นำรถเข้าไปจอด โดยไม่เก็บค่าจอดรถ การที่ลูกค้านำรถเข้าไปจอดดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการมอบการครอบครองรถให้แก่จำเลยทั้งสอง จึงไม่ใช่สัญญาฝากทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 657 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์
บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ที่พนักงานของจำเลยที่ 1 แจกให้แก่ลูกค้าเมื่อนำรถเข้าจอดในลานจอดรถยนต์เป็นหลักฐานสำคัญที่จะแสดงว่ารถของลูกค้า ซึ่งเข้ามาจอดในลานจอดรถสูญหายอาจเกิดจากพนักงานของจำเลยที่ 1 ปล่อยรถออกไปโดยมิได้ตรวจและเรียกบัตรจอดรถคืน หรือเจ้าของรถประมาทเลินเล่อลืมบัตรจอดรถไว้ในรถเป็นเหตุให้คนร้ายที่ลักรถนำบัตรจอดรถไปแสดงต่อพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้วนำรถออกไปได้ หรือแม้แต่เจ้าของรถรู้เห็นกับคนร้ายโดยให้บัตรจอดรถแก่คนร้ายให้นำรถออกไปก็เป็นได้ กล่าวคือ บัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 ต้องยังอยู่ในความครอบครองของเจ้าของรถ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์มีบัตรจอดรถของจำเลยที่ 2 มาแสดงว่าบัตรจอดรถยังอยู่กับโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์พิพาทแต่พนักงานของจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อปล่อยรถยนต์พิพาทออกไปโดยไม่ได้ตรวจบัตรจอดรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4235/2541 โจทก์นำรถยนต์ไปฝากไว้กับจำเลย จำเลยเรียกเก็บค่าฝากเป็นรายเดือน มีระเบียบว่าเจ้าของรถต้องฝากกุญแจไว้กับจำเลยเพื่อจำเลยเลื่อนรถได้ในกรณีที่มีรถอื่นเข้ามาจอด ซึ่งโจทก์ได้มอบกุญแจรถให้จำเลยทุกครั้งที่มาจอดพฤติการณ์ดังกล่าว เป็นการรับฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จ หาใช่เป็นเรื่องให้เช่าสถานที่จอดรถไม่
หน้าที่ของผู้รับฝาก
(1) กรณีรับฝากทรัพย์เป็นการทำให้เปล่า ไม่มีบำเหน็จ ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังสงวนทรัพย์สินซึ่งฝาก นั้นเหมือนเช่นเคยประพฤติในกิจการของตนเอง (มาตรา 659 วรรคหนึ่ง)
(2) กรณีที่การรับฝากทรัพย์นั้นมีบำเหน็จค่าฝาก ผู้รับฝากจำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือ เพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดั่งนั้น ทั้งนี้ย่อมรวมทั้งการใช้ฝีมืออันพิเศษเฉพาะการในที่จะพึงใช้ฝีมือเช่นนั้นด้วย (มาตรา 659 วรรคสอง)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10082/2551 การที่จะพิจารณาว่าจำเลยในฐานะผู้รับฝากรถยนต์ไว้โดยมีบำเหน็จค่าฝากได้ใช้ความ ระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับคนทั่วๆไปในภาวะเช่นนั้นว่าควรจะพึงใช้ความระมัดระวังเช่นไร จำเลยใช้ห้องแถวซึ่งอยู่ติดกับถนนเป็นที่ตั้งอู่ บริเวณด้านหน้าของอู่ตั้งประชิดติดกับขอบถนน แสดงว่าอู่ของจำเลยเป็นอู่ขนาดเล็กย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีการกั้นรั้วหรือ จัดหายามมาคอยระแวดระวังในเวลากลางคืน การที่จำเลยจอดรถยนต์กระบะคันพิพาทไว้บริเวณด้านหน้าอู่ของจำเลยโดยได้ล็อกประตูและล็อกพวงมาลัยรถยนต์คันพิพาท ส่วนตัวจำเลยก็นอนอยู่ภายในอู่ดังกล่าว เมื่อได้ยินเสียงเครื่องยนต์รถดังขึ้นก็ได้ลุกขึ้นดู เมื่อพบว่ารถยนต์คันพิพาทหายไป ก็ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจที่ผ่านมาทราบและออกติดตามคนร้ายกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย ตามพฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเพื่อสงวนทรัพย์สินนั้นเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงประพฤติโดยพฤติการณ์ดังนั้นแล้ว
(3) กรณีที่ผู้รับฝากเป็นผู้มีวิชาชีพเฉพาะกิจการค้าขายหรืออาชีวะอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จำต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการค้าขายหรืออาชีวะ อย่างนั้น (มาตรา 659 วรรคสาม)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8144/2548 การที่โจทก์กับ ม. ขอเปิดบัญชีร่วมกับธนาคารจำเลยที่ 1 โดยกำหนดเงื่อนไขในการเบิกถอนเงินจากบัญชีว่าโจทก์กับ ม. ต้องลงลายมือชื่อร่วมกันจึงจะเซ็นสั่งจ่ายเงินจากบัญชีได้นั้น ย่อมแสดงให้เห็นได้อยู่ในตัวจากสัญญาฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ถือเอาเงื่อนไขการเบิกถอนเงินตามที่กำหนดไว้ในคำขอเปิดบัญชีร่วมเป็น สาระสำคัญและเป็นเงื่อนไขที่ทำให้โจทก์ผู้ฝากเงินเกิดความมั่นใจว่าหากโจทก์ มิได้ร่วมลงลายมือชื่อในใบถอนเงินด้วย จะไม่มีใครสามารถที่จะเบิกถอนเงินจากบัญชีได้ ดังนั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขการเบิกถอนเงินเช่นว่านี้เป็นอย่างอื่น ย่อมต้องถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขในส่วนที่เป็นสาระสำคัญยิ่งของสัญญา ฝากทรัพย์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กล่าวคือ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขดังกล่าวก็ชอบที่ฝ่ายโจทก์คือทั้งโจทก์ และ ม. จะต้องมาปรากฏตัวแสดงตนต่อจำเลยที่ 1 ด้วยตนเองหรือทำหนังสือมอบอำนาจมาอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การที่จำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์และ ม. เป็นลูกค้ารายใหญ่และยอมผ่อนปรนวิธีปฏิบัติให้โดยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ บุคคลทั้งสองมาปรากฏตัวเพื่อแสดงความประสงค์พร้อมกันด้วยตนเองต่อจำเลยที่ 1 นั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มุ่งหมายเพียงเพื่อการเอาใจลูกค้ารายใหญ่ให้ได้รับความสะดวกโดยไม่ถือ ปฏิบัติเช่นที่ต้องปฏิบัติตามปกติ ถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ใช้ความระมัดระวังเท่าที่เป็นธรรมดาที่ต้องใช้และสมควรต้องใช้ในกิจการ ธนาคารพาณิชย์ของตน เมื่อลายมือชื่อของโจทก์ในหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินฝาก เป็นลายมือชื่อปลอม พนักงานของจำเลยที่ 1 ตรวจสอบแล้ว ไม่ทราบว่าเป็นลายมือชื่อปลอมจึงอนุมัติให้ ม. เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกถอนได้ เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้รับฝากซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์มิได้ใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ในกิจการธนาคารของตนในส่วนนี้อีกโสดหนึ่งด้วย
ขณะที่โจทก์กับ ม. เปิดบัญชีร่วมต่อจำเลยที่ 1 และ ม. ยื่นหนังสือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเบิกจ่ายเงินจากบัญชี รวมทั้งขณะที่ ม. เบิกถอนเงินจากบัญชีร่วมดังกล่าวไปแต่ผู้เดียวนั้น โจทก์กับ ม. ยังเป็นสามีภริยากัน ซึ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาย่อมเป็นสินสมรส ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1470 และถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ตามมาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส ประกอบกับหากเงินในบัญชีเงินฝากเป็นของโจทก์คนเดียว ก็ไม่มีเหตุที่โจทก์กับ ม. จะกำหนดเงื่อนไขการเบิกถอนเงินว่าต้องลงลายมือสั่งจ่ายทั้งสองคนร่วมกัน จึงฟังว่าเงินในบัญชีเงินฝากที่ ม. เบิกถอนไปนั้นเป็นสินสมรส ซึ่งโจทก์มีส่วนอยู่เพียงกึ่งหนึ่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ในส่วนนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4001/2540 ธนาคารจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอาชีพรับฝากเงินจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ผู้ฝากเงินให้ละเอียดรอบคอบ เมื่อเปรียบเทียบลายมือโจทก์ในใบถอนเงินฝากกับลายมือโจทก์ในบัตรตัวอย่างลายมือชื่อผู้ฝากและสมุดคู่ฝากแล้ว เห็นได้ว่าลักษณะการเขียนและลายเส้นลายหนาแตกต่างกัน เช่นตัว "ย" เป็นต้น เมื่อปรากฎด้วยว่าลายมือในใบถอนเงินฝากก็มิใช่เป็นของโจทก์ทั้งหมด จึงเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะหากโจทก์มาถอนเงินด้วยตนเองก็น่าจะต้องกรอกข้อความทั้งหมดด้วยตนเอง จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จึงควรจะต้องสอบถามให้ได้ความว่าผู้ใดเป็นผู้กรอกข้อความร่วมกับผู้ถอนหรือขอตรวจดูบัตรประจำตัวประชาชนหรือใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบลายมือชื่อให้ลายละเอียดรอบคอบมากขึ้น แต่ปรากฎว่าจำเลยที่ 4 มิได้กระทำ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้ตรวจลายมือชื่อโจทก์โดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งผู้ตรวจในภาวะเช่นจำเลยที่ 4 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยที่ 4 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์เพียงแต่ทำสมุดคู่ฝากหายไปเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ เหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เพราะมีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในใบถอนเงินและนำไปถอนเงินจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้จ่ายเงินให้ผู้ปลอมไปโดยประมาทเลินเล่อโดยโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วย ดังนี้เหตุที่โจทก์ทำสมุดหาย จึงไม่ใช่ผลโดยตรงที่ทำให้เกิดเหตุในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีส่วนร่วมในความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6280/2538 จำเลยประกอบธุรกิจธนาคาร การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งของจำเลยซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำจำเลยย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งจำเลยจะต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่วๆไป การที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้นำมาเรียกเก็บเงินไปโดยที่ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อโจทก์ที่ให้ไว้กับจำเลยกับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลย จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลย เป็นการกระทำละเมิดและผิดสัญญาฝากทรัพย์ต่อโจทก์ จำเลยจะยกข้อตกลงยกเว้นความรับผิดตามที่ระบุไว้ในคำขอเปิดบัญชีกระแสรายวันมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ การที่เช็คพิพาทซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ตกไปอยู่ในความครอบครองของบุคคลอื่นจนกระทั่งมีการปลอมลายมือชื่อโจทก์นั้นแสดงว่าโจทก์ละเลยไม่ระมัดระวังในการดูแลรักษาแบบพิมพ์เช็คดังกล่าวอันถือได้ว่าโจทก์มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายด้วย การกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เพียงใดนั้นต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ
(4) ห้ามผู้รับฝากเอาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นออกมาใช้สอยเอง หรือเอาไปให้บุคคลภายนอกใช้สอย หรือให้บุคคลภายนอกเก็บรักษา ยกเว้นแต่ผู้ฝากจะอนุญาต หากผู้รับฝากฝ่าฝืนก็จะต้องรับผิดเมื่อทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นสูญหายหรือบุบสลายอย่างหนึ่งอย่างใด แม้ถึงจะเป็นเพราะเหตุสุดวิสัย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าถึงอย่างไร ๆ ทรัพย์สินนั้นก็คงจะต้องสูญหายหรือบุบสลายอยู่นั่นเอง (มาตรา 660)
(5) ผู้รับฝากต้อง รับบอกกล่าวแก่ผู้ฝากโดยพลัน ถ้า
ก. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยื่นฟ้องผู้รับฝาก หรือ
ข. บุคคลภายนอกอ้างว่ามีสิทธิเหนือทรัพย์สินซึ่งฝากและยึดทรัพย์สินนั้น
(6) ผู้รับฝากมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์ที่รับฝากไว้ ดังนี้
ก. ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากไม่มีสิทธิจะคืนทรัพย์สินก่อนถึงเวลากำหนด เว้นแต่ในเหตุจำเป็นอันมิอาจจะก้าวล่วงเสียได้
ข. ถ้าคู่สัญญาไม่ได้กำหนดเวลาไว้ว่าจะพึงคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นเมื่อไร ผู้รับฝากอาจคืนทรัพย์สินนั้นได้ทุกเมื่อ
ค. ผู้รับฝากจำต้องคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากไว้นั้นให้แก่ผู้ฝาก หรือทรัพย์สินนั้นฝากในนามของผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น หรือผู้รับฝากได้รับคำสั่งโดยชอบให้คืนทรัพย์สินนั้นไปแก่ผู้ใด คืนให้แก่ผู้นั้น แต่หากผู้ฝากทรัพย์ตาย ท่านให้คืนทรัพย์สินนั้นให้แก่ทายาท
หน้าที่ของผู้ฝาก
(1) ค่าคืนทรัพย์สินซึ่งฝากนั้น ย่อมตกแก่ผู้ฝากเป็นผู้เสีย
(2) ค่าใช้จ่ายใดอันควรแก่การบำรุงรักษาทรัพย์สินซึ่งฝากนั้นผู้ฝากจำต้องชดใช้ให้แก่ผู้รับฝาก เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ โดยสัญญาฝากทรัพย์ว่าผู้รับฝากจะต้องออกเงินค่าใช้จ่ายนั้นเอง
(3) สำหรับกรณีฝากทรัพย์มีบำเหน็จก็ต้องมีหน้าที่จ่ายค่าบำเหน็จ โดยถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา หรือไม่มีกำหนดโดยจารีตประเพณีว่าบำเหน็จค่าฝากทรัพย์นั้นจะพึงชำระเมื่อไร ให้ชำระเมื่อคืนทรัพย์สินซึ่งฝาก ถ้าได้กำหนดเวลากันไว้เป็นระยะอย่างไรก็พึงชำระเมื่อสิ้นระยะเวลานั้นทุกคราวไป
อายุความ
ความรับผิดเพื่อใช้เงินบำเหน็จค่าฝากทรัพย์ หรือชดใช้เงินค่าใช้จ่าย หรือใช้ค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นเวลาหกเดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9190/2547 เมื่อจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของท่าเทียบเรือและรับจ้างขนสินค้าขึ้นจากเรือได้ขนถ่ายรถยนต์ของโจทก์ทั้งหมด ขึ้นจากเรือเสร็จแล้ว โจทก์มิได้รับรถยนต์ไปทันที แต่ได้ให้จำเลยเก็บรักษาไว้ที่ลานพักสินค้าของจำเลย โดยมีการคิดค่าเก็บรักษา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาฝากทรัพย์โดยมีบำเหน็จรวมอยู่ด้วย ซึ่งหากรถยนต์ได้รับความเสียหาย จำเลยผู้รับฝากต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้ฝาก การฟ้องเรียกค่าซ่อมแซมรถยนต์เป็นการฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวกับการฝากทรัพย์ อันมีอายุความ 6 เดือนนับแต่วันสิ้นสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 671 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2539 จึงเกินกำหนด 6 เดือน นับแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2538 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์รับรถยนต์คืนไปจากจำเลยอันเป็นวันสิ้นสัญญาฝากทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยจึงขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2546 โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 5 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้รับฝากตู้สินค้าไว้แล้วสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างที่จำเลยที่ 5 รับฝากเป็นการฟ้องเรียกให้ใช้ราคาทรัพย์ ไม่ใช่เรียกค่าสินไหมทดแทนเกี่ยวแก่การฝากทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 671 และกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ10 ปี ตามมาตรา 193/30 เมื่อผู้ขนส่งส่งมอบและผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2541 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับตราส่งรู้ว่าสินค้าหายไป จากวันดังกล่าวนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 9 ธันวาคม 2542 ยังไม่ครบ 10 ปี ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 5 จึงไม่ขาดอายุความ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น