การเรียนการสอนวิชากฎหมายพาณิชย์

ยินดีต้อนรับเข้าสู่การเรียนการสอนวิชากฎหมายพาณิชย์
บทที่ 7 จ้างทำของ
สัญญาจ้างแรงงาน คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งที่เรียกว่า ลูกจ้าง ตกลงจะทำงานให้แก่ บุคคลอีกคนหนึ่งที่เรียกว่า นายจ้าง และ นายจ้างตกลงจะให้สินจ้างแก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้
ลักษณะของสัญญาจ้างแรงงานที่สำคัญ คือ
        1. สัญญาจ้างแรงงานเป็นเอกเทศสัญญาอย่างหนึ่ง กล่าวคือ เป็นนิติกรรมสองฝ่ายระหว่างคู่สัญญา ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างที่มีการ บัญญัติไว้เป็นเอกเทศในลักษณะจ้างแรงงาน-จ้างทำของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       2. สัญญาจ้างแรงงานเป็น สัญญาต่างตอบแทนที่ก่อหนี้ให้แก่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายโดยฝ่ายลูกจ้างมีหนี้ที่ จะต้องทำงานให้แก่นายจ้าง และนายจ้างมีหนี้ที่จะต้องจ่ายสินจ้าง ให้แก่ลูกจ้างตลอดเวลาที่ทำงาน ซึ่งผลตามกฎหมายหากคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้อีกฝ่ายย่อมมีสิทธิ ที่จะไม่ชำระหนี้ได้เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามการจ้างแรงงานส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะ
      3. สัญญาจ้างแรงงานไม่มีแบบหรือหลักฐานเป็นหนังสือ กล่าวคือ กฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องทำตามแบบหรือทำเป็นหนังสือ ฉะนั้นเพียงแต่ เจตนาของทั้งสองฝ่าตรงกัน ก็ถือว่าสัญญาจ้างแรงงานเกิดขึ้นแล้ว
      4. สัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวของคู่สัญญากล่าวคือ คู่ สัญญาแต่ละฝ่ายจะโอนสิทธิ และหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานให้ผู้อื่นไม่ได้ นอกจากอีกฝ่ายหนึ่งจะยินยอม ในกรณีเมื่อลูกจ้างตายลง สัญญาจ้างแรงงานย่อมระงับ ทายาทจะสวมสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาไม่ได้ แต่สำหรับกรณีนายจ้างนั้น หากสัญญาจ้างแรงงานมีสาระสำคัญอยู่ที่ตัวบุคคลผู้เป็นนายจ้าง สัญญาจ้างย่อมระงับไปเช่นกัน
              ข้อสังเกต สัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นความตกลงในการทำงานที่ต้องใช้สติปัญญา นอกจากแรงงานก็ได้ สินจ้างในสัญญาจ้างแรงงานอาจเป็นทรัพย์สินอื่นใด โดยไม่จำกัดเพียงแค่ ในรูปเงินตราเท่านั้น และ “ลูกจ้าง” ในที่นี้ไม่ได้หมายความรวมถึง ข้าราชการ และ ลูกจ้างของกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษ
กฎหมายแรงงาน
ความหมาย
                กฎหมายแรงงาน หมายถึง กฎหมายที่บัญญัติถึงสิทธิและหน้าที่ของนายจ้างลูกจ้าง องค์การของนายจ้าง และองค์การของลูกจ้าง รวมทั้งมาตรการที่กำหนดให้นายจ้าง ลูกจ้าง และองค์การดังกล่าวต้องปฏิบัติต่อกันและปฏิบัติต่อรัฐทั้งนี้เพื่อให้การจ้างงาน การให้แรงงาน การประกอบกิจการ และความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นไปอย่างเหมาะสม โดยต่างได้รับประโยชน์ที่พอเพียงอันจะมีผลทำให้เกิดความสงบสุขความเจริญ ความมั่นคงแก่ทั้งนายจ้าง ลูกจ้างสังคม และเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
 กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้อง
                กฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องที่สำคัญและจำเป็นต้องใช้ มีดังนี้
              2.1  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา 1 ลักษณะ 6 จ้างแรงงาน มาตรา 575 ถึงมาตรา 586
              2.2  พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533
              2.3  พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537
              2.4  พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541
 กฎหมายว่าด้วยสัญญาจ้างแรงงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                1.  ลักษณะสำคัญของสัญญาจ้างแรงงาน
                สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาระหว่างบุคคลทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง โดยลูกจ้างตกลงทำงานให้นายจ้างและนายจ้างมีอำนาจบังคับบัญชาลูกจ้าง ทั้งนี้นายจ้างกับลูกจ้างอาจตกลงกำหนดเงื่อนไขการจ้าง ระยะเวลาการจ้าง การทำงาน ค่าจ้างรวมทั้งผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ ไว้อย่างไรก็ได้แต่ข้อตกลงนั้นจะต้องไม่ขัดหรือแตกต่างไปจากกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชน เช่น จ้างผลิตยาบ้า ทำลายป่าหรือค้าประเวณี เป็นต้น
                1.1  สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาต่างตอบแทน เมื่อลูกจ้างมีหน้าที่ทำงานให้นายจ้างตามที่นายจ้างสั่ง นายจ้างมีหน้าที่จ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างซึ่งอาจเป็นเงินตรา หรือทรัพย์สินอย่างอื่นก็ได้ เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้าง ตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานอยู่กับนายจ้าง และถ้าไม่มีการจ่ายค่าจ้างก็ไม่ใช่สัญญาจ้างแรงงาน
                1.2    สัญญาจ้างแรงงานเป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นการเฉพาะตัวของลูกจ้าง หรือมีสาระสำคัญอยู่ที่สัญญา กล่าวคือ เมื่อนายจ้างตกลงเลือกลูกจ้างคนใดเข้าทำงานกับตนแล้วนายจ้างก็ต้องปฏิบัติต่อลูกจ้างให้เป็นตามสัญญาที่ตกลงกันไว้ รวมทั้งปฏิบัติต่อลูกจ้างในเรื่องสิทธิประโยชน์และสวัสดิการอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายแรงงานกำหนดไว้ และหากนายจ้างจะโอนสิทธิของตนให้แก่บุคคลภายนอกทำงานแทนตนไม่ได้ถ้านายจ้างไม่ยินยอมพร้อมใจด้วย ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งกระทำการฝ่าฝืนความยินยอมพร้อมใจนี้ คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ เช่น นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำงานอีกบริษัทหนึ่งโดยลูกจ้างไม่ยินยอม แม้การทำงานของลูกจ้างในบริษัทใหม่จะเป็นงานลักษณะเช่นเดิมในสถานที่เดิมแต่ก็เป็นงานของบริษัทใหม่ ซึ่งลูกจ้างมิได้ทำงานให้แก่นายจ้างเดิม เช่นนี้ลูกจ้างบอกเลิกสัญญาและเรียกว่าชดเชยจากนายจ้างจะกำหนดรูปแบบของสัญญาหรือมีข้อความอย่างไรก็ได้
2.  หน้าที่ของนายจ้าง
                2.1  จ่ายสินจ้างหรือค่าจ้างให้ลูกจ้างตลอดระยะเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้โดยนายจ้างต้องจ่ายสินจ้างให้ลูกจ้างตามกำหนดเวลาในสัญญาจ้าง หรือตามจารีตประเพณี ถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ ให้จ่ายเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาที่กำหนดจ่ายสินจ้าง
                2.2 บอกกล่าวล่วงหน้าในการเลิกสัญญาจ้าง ถ้าสัญญาจ้างแรงงานมิได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้ นายจ้างจะต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบก่อนจะเลิกสัญญาหรือเลิกจ้าง และระยะเวลาในการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ถือกำหนดเวลาจ่ายสินจ้างแต่ละคราวเป็นสำคัญ  โดยจะต้องบอกให้ลูกจ้างทราบในวันจ่ายสินจ้างหรือก่อนวันจ่ายสินจ้างคราวนี้เพื่อให้ผลเลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้า ดังนั้นระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าจะยาวนานเท่าใด ก็จะขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการจ่ายสินจ้างแต่ละครั้งนายจ้างนั้น แต่ถ้าระยะเวลาจ่ายสินจ้างมากกว่า 3 เดือน ก็ให้บอกกล่าวล่วงหน้าเพียง 3 เดือน
            อย่างไรก็ตามแต่ถ้าสัญญาจ้างแรงงานนั้นได้กำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้วนายจ้างก็ไม่ต้องแจ้งหรือบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด
                2.3  ต้องออกใบสำคัญแสดงการทำงาน เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลงไม่ว่าจะสิ้นสุดลงเพราะนายจ้างเป็นฝ่ายเลิกจ้าง หรือลูกจ้างออกจากงานเองนายจ้างต้องออกใบสำคัญ หรือใบรับรองแสดงการทำงานให้แก่ลูกจ้างนั้น ซึ่งใบสำคัญแสดงการทำงานต้องมีข้อความระบุเกี่ยวกับเรื่องที่ลูกจ้างได้ทำงานมานานเท่าไร (วัน เดือน ปี ที่เริ่มทำงาน และออกจากงานเมื่อใด) รวมทั้งงานที่ทำนั้นเป็นอย่างไร (ลักษณะงานของลูกจ้างเป็นงานอะไร)
2.4  ใช้ค่าเดินทางขากลับให้ลูกจ้างถ้านายจ้างไปว่าจ้างลูกจ้างมาจากต่างถิ่น (ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ) และในการเดินทางเข้ามานายจ้างต้องออกค่าเดินทางให้ เมื่อการจ้างแรงงานสิ้นสุดลง นายจ้างต้องใช้เงินค่าเดินทางขากลับให้ เว้นแต่การจ้างแรงงานสิ้นสุดลงเพราะการกระทำของลูกจ้าง หรือเพราะความผิดของลูกจ้าง
ถ้านายจ้างไม่ปฏิบัติต่อลูกจ้างให้ถูกต้องตามหน้าที่ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแล้วเรียกค่าสินไหมทดแทนหากมีความเสียหายอย่างใดๆ เกิดขึ้นจากการกระทำของนายจ้าง
3.  หน้าที่ของลูกจ้าง
                3.1  ลูกจ้างต้องทำงานให้นายจ้างด้วยตนเอง โดยจะให้คนอื่นทำงานแทนไม่ได้ถ้านายจ้างไม่ยินยอม
                3.2  ลูกจ้างต้องทำงานให้ปรากฏฝีมือพิเศษตามที่ได้รับรองไว้กับนายจ้าง
                3.3  ลูกจ้างต้องไม่ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควร
                3.4  ลูกจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าให้นายจ้างทราบก่อนถึงวันที่ตนจะออกจากงาน หรือไม่ทำงานกับนายจ้างอีกต่อไป
                3.5  ลูกจ้างต้องไม่ขัดคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
                3.6  ลูกจ้างต้องไม่ละเลยคำสั่งนายจ้างเป็นอาจิณ
                3.7  ลูกจ้างต้องไม่ละทิ้งการทำงานไปเสีย
                3.8  ลูกจ้างต้องไม่กระทำความผิดอย่างร้ายแรง
                3.9  ลูกจ้างต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
4.  ความระงับของสัญญาจ้างแรงงาน
                สัญญาจ้างแรงงานระงับไปด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้
4.1  เมื่อคู่สัญญาตกลงเลิกสัญญา หรือคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญา
4.2  นายจ้างตายในกรณีที่สาระสำคัญของสัญญาอยู่ที่นายจ้าง
4.3  ลูกจ้างตาย
4.4  สัญญาจ้างแรงงานระงับเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาตามสัญญาจ้าง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น